ออกแบบมาตรฐานแสงสว่างในสถานที่ทำงานอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย
แสงสว่างเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต เพราะทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่อมมีแสงสว่างที่แตกต่างกัน ตามลักษณะของการใช้งาน ซึ่งในการออกแบบแสงสว่างที่เหมาะสมนั้น นอกจากจะเลือกที่รูปลักษณ์ ความชอบ ความประหยัดไฟ ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย
1. ค่าความเข้มแสงสว่าง คืออะไร
“ความเข้มของแสงสว่าง” หมายความว่า ปริมาณแสงที่ตกกระทบต่อหนึ่งหน่วยตารางเมตร ซึ่งใช้หน่วยความเข้มแสงสว่างเป็นลักซ์ (lux)
2. ใครมีหน้าที่ดูแลความสว่างในสถานที่ทำงาน
กฎหมายกำหนดว่า นายจ้างต้องจัดให้สถานประกอบกิจการมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่นอกจากนายจ้างแล้ว เรื่องความปลอดภัยถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานทุกคน โดยมีหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง เช่น หากพบว่าจุดปฏิบัติงานหลอดไฟเสีย ให้แจ้งผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เปลี่ยนหลอดใหม่ เป็นต้น
3. มาตรฐานแสงสว่างในสถานที่ทำงาน
มาตรฐานแสงสว่างในแต่ละพื้นที่มีค่าความเข้มของแสงสว่างที่แตกต่างกัน ตามลักษณะของงานที่ทำในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งค่ามาตรฐานความเข้มแสงสว่างในพื้นที่การทำงาน ได้ถูกกำหนดไว้ในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง โดยมีการกำหนดไว้เป็นตาราง ซึ่งแต่ละตารางจะกำหนดลักษณะงานและค่ามาตรฐานเอาไว้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ตาราง ดังนี้
- ตารางที่ 1 มาตรฐานความเข้มแสงสว่าง ณ บริเวณพื้นที่ทั่วไปและบริเวณการผลิตภายในสถานประกอบกิจการ เช่น ทางออกฉุกเฉิน เส้นทางหนีไฟ ลานจอดรถ ทางเดิน ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม เป็นต้น
- ตารางที่ 2 มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง ณ บริเวณที่ลูกจ้างต้องทำงาน โดยใช้สายตามองเฉพาะจุดหรือต้องใช้สายตาอยู่กับที่ในการทำงาน
- ตารางที่ 3 มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง (ลักซ์) บริเวณโดยรอบที่ให้ลูกจ้างคนใดคนหนึ่งทำงาน โดยใช้สายตามองเฉพาะจุดในการปฏิบัติงาน
ซึ่งหากเราต้องการรู้ว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีค่าความเข้มแสงสว่างเท่าไหร่ จึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้เราดูตามตารางที่กล่าวไว้ข้างต้น และในบางครั้งผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องแสงสว่างในสถานที่ทำงานต้องพิจารณาลักษณะงานเองว่า ลักษณะงานแบบนี้เป็นงานแบบไหน เช่น งานละเอียดน้อย งานละเอียดสูง เป็นต้น
4. การออกแบบแสงสว่างในสถานที่ทำงาน
การออกแบบแสงสว่าง เป็นการคิดคำนวน เพื่อหาค่าความส่องสว่าง เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่นอกจากค่าความสว่างต้องเป็นไปตามที่กำหนดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงแสงสะท้อน แสงเงาด้วย เพราะทั้งหมดส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการออกแบบแสงสว่างมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น
- การมีระดับการส่องสว่างที่เพียงพอ ซึ่งอ้างอิงตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง
- สีของแสงสว่าง ซึ่งสีของแสงสว่างมีผลต่อการมองเห็น เช่น แสงสีขาว แสงสีชา เป็นต้น
- ทิศทางของแสง เพราะทิศทางของแสง หากออกแบบการติดตั้งที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดแสงเงา แสงสะท้อนได้
- วัสดุพื้นผิวของพื้นที่ทำงาน ส่งผลต่อแสงสว่างในพื้นที่การปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน เพราะหากวัสดุที่เราใช้ทำพื้นของโต๊ะทำงานสามารถสะท้อนแสงได้ ก็ส่งผลต่อการปฏิบัติงานด้วย
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ก่อนที่เราจะกำหนดค่าแสงสว่างในการทำงานแต่ละจุด เราควรกำหนด lay out การจัดวางโต๊ะทำงานหรือพื้นที่การทำงานก่อน เพื่อจะได้กำหนดได้อย่างถูกต้องว่า แต่ละจุดต้องมีค่ามาตรฐานของแสงสว่างเท่าไหร่ เช่น พื้นที่การผลิต และพื้นที่ตรวจสอบชิ้นงาน ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่แตกต่างกัน
5. การแก้ไขกรณีแสงสว่างไม่เพียงพอ
การแก้ไขกรณีแสงสว่างไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ละพื้นที่สามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ เช่น
- การปรับตำแหน่งพื้นที่การทำงานใหม่
- การติดม่านรับแสง
- การติดตั้งหลอดไฟเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนหลอดที่เสียแล้วเอาหลอดใหม่ใส่เข้าไปแทน
- การทำความสะอาดหลอดไฟ ในกรณีที่ค่าแสงสว่างไม่เป็นไปตามมาตรฐานเพียงเล็กน้อย
- การติดตั้งโคมไฟเฉพาะจุด
- การใช้แผ่นใสบนหลังคา
จากวิธีการแก้ไขกรณีแสงสว่างไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาจมีวิธีที่ดีและเหมาะสมกว่าที่กล่าวมาข้างต้น แต่ละพื้นที่สามารถเลือกให้เหมาะสมกับหน้างานของตนเองได้ เมื่อมีการแก้ไขแล้ว ต้องตรวจวัดค่าความเข้มแสงสว่างซ้ำ เพื่อดูว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องบันทึกค่าแสงสว่างก่อนและหลังการแก้ไขไว้เป็นหลักฐานด้วย
6. อันตรายจากแสงสว่างไม่เพียงพอ
- ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากเกินไป : บังคับให้ม่านตาเปิดกว้าง เพราะการมองเห็นไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการเมื่อยล้าของตาที่ต้องเพ่งออกมา ปวดตา มึนศีรษะ เป็นต้น
- อันตรายจากแสงสว่างมากเกินไป : ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความไม่สบายใจ เมื่อยล้า ปวดตา มึนศีรษะ กล้ามเนื้อหนังตากระตุก วิงเวียน นอนไม่หลับ การมองเห็นแย่ลง เป็นต้น
สรุป
แสงสว่าง เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งแสงสว่างที่ปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และหากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และต้องมีการตรวจวัดแสงสว่างตามที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการที่อาจส่งผลต่อค่าแสงสว่างด้วย