ในการขับโฟล์คลิฟท์ต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อะไรบ้าง
ปัจจุบันการใช้งานโฟล์คลิฟท์ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากช่วยให้การปฏิบัติงานสะดวก รวดเร็ว และสามารถทำงานได้ทันเวลา แต่การใช้งานรถโฟล์คลิฟท์ถึงจะมีประโยชน์มากมายในการปฏิบัติงาน แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้เช่นกัน ผู้ขับขี่จึงจำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
โฟล์คลิฟท์ คืออะไร
รถยก หมายความว่า รถที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้สำหรับการยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ เช่น โฟล์คลิฟท์ (forklift) หรือรถที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน คนส่วนมากจึงมีความเข้าใจตรงกันว่า รถยก คือรถโฟล์คลิฟท์ นั่นเอง
อุปกรณ์ความปลอดภัยของโฟล์คลิฟท์
โครงสร้างของโฟล์คลิฟท์ถูกออกแบบมาอย่างแข็งแรงและปลอดภัย ซึ่งถือว่าส่วนประกอบของตัวรถโฟล์คลิฟท์นั้น เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างหนึ่งเช่นกัน เริ่มตั้งแต่
โครงหลังคาของรถโฟล์คลิฟท์
เนื่องจากการออกแบบโครงหลังคาของโฟล์คลิฟท์ ต้องมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถป้องกันอันตรายจากวัสดุตกหล่นได้
ป้ายบอกพิกัดนำหนักยกอย่างปลอดภัย
ป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกอย่างปลอดภัย เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้งานสามารถยกที่พิกัดน้ำหนักเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการยกเกินพิกัดที่กำหนด
สัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือนภัยในขณะทำงาน
สัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือน เป็นสิ่งที่สำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานกับโฟล์คลิฟท์ ในขณะที่มีการใช้งานรถโฟล์คลิฟท์ต้องให้สัญญาณเสียงเมื่อถึงมุมอับ ทางเลี้ยว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้คนที่จะเดินผ่านบริเวณนั้นระมัดระวัง และแสงไฟเตือน จะกระพริบเมื่อมีการใช้งานรถโฟล์คลิฟท์ ทำให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าบริเวณนั้นรถโฟล์คลิฟท์กำลังปฏิบัติงานอยู่
อุปกรณ์ช่วยในการมองเห็นตามสภาพการทำงาน
อุปกรณ์ช่วยในการมองเห็นสำหรับรถโฟล์คลิฟท์เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น กระจกมองข้าง เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นบริเวณที่ปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น
เข็มขัดนิรภัย
เข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบเพื่อให้ผู้ขับขี่สวมใส่ตลอดเวลาในขณะขับรถโฟล์คลิฟท์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ขับขี่ เมื่อมีอุบัติเหตุรถโฟล์คลิฟท์พลิกคว่ำและผู้ขับขี่สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและอยู่ในท่าที่ถูกต้อง ผู้ขับขี่ก็จะปลอดภัยจากการถูกโฟล์คลิฟท์ทับ
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการทำงานเกี่ยวกับการขับโฟล์คลิฟท์
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการทำงานเกี่ยวกับการขับโฟล์คลิฟท์ ตามกฎกระทรวง กำหนดว่า งานยก ขนย้าย หรือติดตั้ง ให้สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ดังนี้
- หมวกนิรภัย ซึ่งการสวมใส่หมวกนิรภัยต้องปรับขนาดให้พอดีกับศีรษะของผู้สวมใส่ และใส่สายรัดคางให้เรียบร้อย
- ถุงมือผ้า
- รองเท้านิรภัย
นอกจากอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่กล่าวมา ในบางบริษัท ยังกำหนดเพิ่มเติม ให้ผู้ที่ทำหน้าที่ขับขี่โฟล์คลิฟท์ต้องสวมเสื้อสะท้อนแสงด้วย และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่ใช้งาน ต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวให้พร้อมใช้งานด้วย
มาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับการขับโฟล์คลิฟท์
นอกจากอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ติดมากับรถโฟล์คลิฟท์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่กำหนดให้ลูกจ้างสวมใส่ในขณะขับโฟล์คลิฟท์แล้ว ยังมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม ที่กำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่และบุคคลอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกับรถโฟล์คลิฟท์ เช่น
- ต้องตรวจสอบรถโฟล์คลิฟท์ก่อนการใช้งานทุกครั้ง หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแก้ไข
- การกำหนดช่องทางเดินรถฟอร์คลิฟต์อย่างชัดเจน เพื่อเป็นการแยกทางเดินคน ออกจากพื้นที่
- สำหรับรถโฟล์คลิฟท์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
- การติดตั้งกระจกนูนหรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกันไว้ที่บริเวณทางแยกหรือทางโค้งที่มองไม่เห็นทางข้างหน้า
- ผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถโฟล์คลิฟท์ ต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้รถยกแต่ละประเภทความปลอดภัยในการขับรถยก การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยก เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
- ห้ามให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ขับขี่โดยสารหรือขึ้นไปบนส่วนหนึ่งส่วนใดของโฟล์คลิฟท์
- ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร ในขณะขับขี่โฟล์คลิฟท์ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ได้
- การกำหนดความเร็วในการขับรถโฟล์คลิฟท์
จากมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับการขับโฟล์คลิฟท์ที่กล่าวมา เป็นเพียงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยบางส่วนเท่านั้น ซึ่งแต่ละบริษัทอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ ยังได้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับการใช้รถยก ไว้ในหมวด 1 เครื่องจักร ส่วนที่ 4 รถยก อีกด้วย
สรุป
การปฏิบัติงานกับโฟล์คลิฟท์อย่างปลอดภัย นอกจากผู้ขับขี่ต้องผ่านการอบรมรถยกแล้ว ยังจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ขับขี่ และยังต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นที่กำหนดขึ้น โดยต้องควบคุมดูแลให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกัน